วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หน้าที่ของคำนาม


หน้าที่่ของคำนาม

     คำนามทำหน้าที่ได้หลายหน้าที่ ดังนี้
     1. คำนามทำหน้าที่เป็นประธาน (กรรตุการก)
ตัวอย่าง
     ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า                                นกบินหนีไปเสียแล้ว
     ความชั่วและนกเป็นคำนาม                                 ทำหน้าที่เป็นประธานของกริยาทำและบิน
     ในประโยคที่เป็นภาษาเขียนส่วนมากเราเรียงประธานไว้หน้ากริยา แต่บางกรณี เราอาจเรียงกรรมไว้ต้นประโยคก็ได้ เช่นขโมยตำรวจจับได้แล้ว
    
      2. คำนามทำหน้าที่เป็นกรรม (กรรมการก)
ตัวอย่าง
     ปลวกกัดหนังสือหมดแล้ว                                     นักเรียนทำการบ้านเสร็จแล้ว
     หนังสือและการบ้านเป็นกรรมของกริยากัดและทำ
     ตามปกติกรรมมักตามหลังกริยา แต่บางโอกาสอาจสับที่กันได้ เช่น หนังสือปลวกกัดหมดแล้ว
     การบ้านนักเรียนทำเสร็จแล้ว แต่การสับที่กันดังกล่าวจะต้องระวังไม่ให้ผู้ฟังสับสนในการเขียน จึงไม่ควรใช้นอกจากจำเป็นจริงๆ
    
      3. คำนามทำหน้าที่เป็นกรรมตรงและกรรมรอง
ตัวอย่าง
     น้องทำชามแตก                                                 ต้นไม้ล้มทับรถยนต์ 
     ชามและรถยนต์ หน้าที่เป็นกรรมตรงของกริยาทำและล้มทับ
     มารดาให้นมบุตร                                                เขาบอกความลับตำรวจ 
     ฉันส่งขนมร้านค้าทุกวัน
     บุตร ตำรวจ และร้านค้าเป็นกรรมรองของกริยาให้ บอก และส่ง เราอาจแทรกคำว่า แก่ หรือให้แก่เข้าไปในประโยคก็จะได้ความเหมือนเดิม เช่น
     มารดาให้นมแก่บุตร                                           เขาบอกความลับให้แก่ตำรวจ
     ฉันส่งขนมให้แก่ร้านค้าทุกวัน

     4. คำนามทำหน้าที่ขยายคำนามอื่น (วิกัติการก)
ตัวอย่าง
     เด็กห้องนี้มีกี่คน
     นายสุธรรมทนายความเห็นนายสมจิตรช่างไม้เดินไป
     เราปลูกแอปเปิ้ลผลไม้เมืองหนาวได้แล้ว
     ห้อง ทนายความ ช่างไม้ และผลไม้เมืองหนาวเป็นคำนาม ทำหน้าที่ขยายคำนามที่อยู่ข้างหน้า

     5. คำนามทำหน้าที่ขยายกริยา บอกสถานที่ ทิศทาง หรือเวลา (วิเศษณการก)
ตัวอย่าง
     เขากลับบ้าน (บอกสถานที่)                              หญิงคนนั้นเดินออกมาจากสวน (บอกสถานที่)
     เขาชอบนอนดึก (บอกเวลา)                             ใครอยู่ข้างบน (บอกทิศทาง)
     คำที่พิมพ์ตัวหนาเป็นคำนามทำหน้าที่ขยายกริยา
     คำนามที่ตามหลังกริยาไม่ใช่เป็นกรรมของกริยาเสมอไป เราอาจแทรกคำระหว่างกริยากับนามก็ได้ เช่น เขากินตะเกียบอาจเขียนเป็น เขากินด้วยตะเกียบ

     6. คำนามทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้แก่กริยา
ตัวอย่าง
     นายมีเป็นภารโรงของโรงเรียน                            วิมลคล้ายแม่มาก
     เขาเหมือนพ่อค้าไปทุกที                                    น้องสูงเท่าผมแล้ว
     ช้างน้ำคือสัตว์ในนิยาย
     คำที่พิมพ์ตัวหนาเป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้แก่กริยา คือทำให้ประโยคมีใจความสมบูรณ์ขึ้น คำเหล่านี้มิใช่กรรมของกริยา เพราะมิได้เป็นผู้ถูกกระทำ คำนามลักษณะนี้มักอยู่หลังกริยา เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ

     7. คำนามทำหน้าที่เรียกขานในฐานะประธาน กรรม หรือเรียกขานลอยๆ
ตัวอย่าง
     เด็กๆ กินขนมเร็วๆ เข้า                                      อีหนู แต่งตัวยังไม่เสร็จรึไง
     อาจารย์ ผมขออาศัยรถไปด้วยคน                       พี่ปู ช่วยหยิบหนังสือให้หน่อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น