โคลงสี่สุภาพ
เป็นคำประพันธ์ประเภท ''ร้อยกรอง'' ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปรากฏใน ''วรรณคดีไทย'' มานานแล้ว วรรณคดีไทยฉบับที่เก่าและมีชื่อเสียงมากฉบับหนึ่งคือ "ลิลิตพระลอ" มีโคลงสี่สุภาพบทหนึ่งถูกยกมาเป็นบทต้นแบบที่แต่งได้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ คือนอกจากจะมีบังคับสัมผัสตามที่ต่าง ๆ แล้ว ยังบังคับให้มี ''วรรณยุกต์'' เอกโทในบางตำแหน่งการประพันธ์โคลงสี่สุภาพ
การประพันธ์โคลงสี่สุภาพเป็นประณีตศิลป์ ที่ใช้ถ้อยคำตัวอักษรเป็นสื่อแสดงความคิดของผู้สรรค์สร้าง ซึ่งต้องการสะท้อนอารมณ์สะเทือนใจและก่อให้ผู้อ่านคล้อยตามไปด้วย ผู้อ่านต้องรับรู้ความงามด้วยใจโดยตรง ดังนั้นผู้สร้างสรรค์งานวรรณศิลป์จึงต้องช่างสังเกต รู้จักพินิจพิจารณามองเห็นจุดที่คนอื่นมองข้ามหรือคาดไม่ถึง และใช้ถ้อยคำที่ละเมียดละไม ผลงานนั้นจึงจะทรงคุณค่า
ลักษณะโคลงสี่สุภาพ
คณะของโคลงสี่สุภาพ คือ บทหนึ่ง มี 4 บาท (เขียนเป็น 4 บรรทัด) 1 บาทแบ่งออกเป็น 2 วรรค โดยวรรคแรกกำหนดจำนวนคำไว้ 5 คำ ส่วนวรรคหลัง ในบาทที่ 1,2 และ 3 จะมี 2 คำ (ในบาทที่ 1 และ 3 อาจเพิ่มสร้อยได้อีกแห่งละ 2 คำ) ส่วนบาทที่ 4 วรรคที่ 2 จะมี 4 คำ รวมทั้งบท มี 30 คำ และเมื่อรวมสร้อยทั้งหมดอาจเพิ่มเป็น 34 คำ
ส่วนที่บังคับ เอก โท (เอก 7 โท 4) ดังนี้
บาทที่ 1 (บาทเอก) วรรคแรก คำที่ 4 เอก และคำที่ 5 โท
บาทที่ 2 (บาทโท) วรรคแรก คำที่ 2 เอก วรรคหลัง คำแรก เอก คำที่ 2 โท
บาทที่ 3 (บาทตรี) วรรคแรก คำที่ 3 เอก วรรคหลัง คำที่ 2 เอก
บาทที่ 4 (บาทจัตวา) วรรคแรก คำที่ 2 เอก คำที่ 5 โท วรรคหลัง คำแรก เอก คำที่ 2 โท
หนังสือ ''จินดามณี'' ของ ''พระโหราธิบดี'' อธิบายการประพันธ์โคลงสี่สุภาพไว้ว่า
สิบเก้าเสาวภาพแก้ว | กรองสนธิ์ | |
จันทรมณฑล | สี่ถ้วน | |
พระสุริยะเสด็จดล | เจ็ดแห่ง | |
แสดงว่าพระโคลงล้วน | เศษสร้อยมีสอง |
- เสาวภาพ หรือ สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้กำหนดรูปวรรณยุกต์ ทั้ง เอก โท ตรี และจัตวา (ส่วนคำที่มีรูปวรรณยุกต์กำกับเรียกว่า พิภาษ)
- จันทรมณฑล หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท 4 แห่ง
- พระสุริยะ หมายถึง คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก 7 แห่ง
- รวมคำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอกและโท 11 คำ หรือ อักษร
- โคลงสุภาพบทหนึ่งมี 30 คำ (ไม่รวมสร้อย)
- คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์เอก อาจใช้คำตายแทนได้
- คำที่กำหนดรูปวรรณยุกต์โท แทนด้วยคำอื่นไม่ได้ ต้องใช้รูปโทเท่านั้น
- คำที่ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ หรือคำสุภาพมี 19 คำ มีหรือไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็ไม่ถือว่าผิด
- ในชุด 19 คำแม้ไม่กำหนดรูปวรรณยุกต์ ในท้ายวรรคทุกวรรคต้องไม่มีรูปวรรณยุกต์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้น้ำหนักของโคลงเสียไป ได้แก่คำที่กากบาทในแผนผังข้างล่าง
๐ ๐ ๐ เอก โท | ๐ X (๐ ๐) | |
๐ เอก ๐ ๐ X | เอก โท | |
๐ ๐ เอก ๐ X | ๐ เอก (๐ ๐) | |
๐ เอก ๐ ๐ โท | เอก โท ๐ X |
โคลงสี่สุภาพที่มีรูป ''วรรณยุกต์'' ตรงตามบังคับนั้นมีตัวอย่างอยู่หลายเรื่อง เช่น ''ลิลิตพระลอ'' ''โคลงนิราศนรินทร์'' ''โคลงนิราศพระประธม'' เป็นต้น ตัวอย่างจากหนังสือจินดามณี พระนิพนธ์ใน''พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท'' ว่าดังนี้
นิพนธ์กลกล่าวไว้ | เป็นฉบับ | |
พึงเพ่งตามบังคับ | ถี่ถ้วน | |
เอกโทท่านลำดับ | โดยที่ สถิตนา | |
ทุกทั่วลักษณะล้วน | เล่ห์นี้คือโคลง |
การแต่งโคลงสี่สุภาพต่อกันหลายๆ บท เป็นเรื่องราวอย่างโคลงนิราศ โคลงเฉลิมพระเกียรติ โคลงสุภาษิต หรือโคลงอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ โคลงสุภาพชาตรี และ โคลงสุภาพลิลิต
- โคลงสุภาพชาตรี ไม่มีสัมผัสระหว่างบท ส่วนใหญ่กวีนิพนธ์แบบเก่าจะนิยมแบบนี้เป็นส่วนมาก
- โคลงสุภาพลิลิต มีการร้อยสัมผัสระหว่างบท โดยคำสุดท้ายของบทต้นต้องส่งสัมผัสสระ ไปยังคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ในบทต่อไป
เช่น
1. บุเรงนองนามราชเจ้า | จอมรา มัญเฮย | |
อกพยุหแสนยา | ยิ่งแก้ว | |
มอญผ่านประมวลมา | สามสิบ หมื่นแฮ | |
ถึงอยุธเยศแล้ว | หยุดใกล้นครา |
2. พระมหาจักรพรรดิเผ้า | ภูวดล สยามเฮย | |
วางค่ายรายรี้พล | เพียบหล้า | |
ดำริจักใคร่ยล | แรงศึก | |
ยกนิกรทัพกล้า | ออกตั้งกลางสมร |
3. บังอรอัคเรศผู้ | พิศมัย ท่านนา | |
นามพระสุริโยทัย | ออกอ้าง | |
ทรงเครื่องยุทธพิไชย | เช่นอุปราชแฮ | |
เถลิงคชาธารคว้าง | ควบเข้าขบวนไคล | |
โคลงภาพเรื่องพระราชพงศาวดาร |
สัมผัส
สัมผัสบังคับ เรียกอีกอย่างว่า "สัมผัสนอก" หมายถึงสัมผัสที่กำหนดเป็นแบบแผนในคำประพันธ์ เป็นสัมผัสสระ คือมีเสียงสระและตัวสะกดมาตราเดียวกัน ดังนี้
บาทแรก คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาทที่ 2 และ 3
บาทที่ 2 คำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับ คำสุดท้ายของวรรคแรก ในบาทที่ 4
ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี อธิบายสัมผัสบังคับของโคลงสี่สุภาพไว้ว่า
ให้ปลายบาทเอกนั้น | มาฟัด | |
ห้าที่บทสองวัจน์ | ชอบพร้อง | |
บทสามดุจเดียวทัด | ในที่ เบญจนา | |
ปลายแห่งบทสองต้อง | ที่ห้าบทหลัง |
คำสร้อย
คำสร้อยซึ่งใช้ต่อท้ายโคลงสี่สุภาพในบาทที่ 1 และบาทที่ 3 นั้น จะใช้ต่อเมื่อความขาด หรือยังไม่สมบูรณ์ หากได้ใจความอยู่แล้วไม่ต้องใส่ เพราะจะทำให้ "รกสร้อย"
คำสร้อยที่นิยมใช้กันเป็นแบบแผนมีทั้งหมด 18 คำ
- พ่อ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล
- แม่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล หรือเป็นคำร้องเรียก
- พี่ ใช้ขยายความเฉพาะบุคคล อาจใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 หรือบุรุษที่ 2 ก็ได้
- เลย ใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ
- เทอญ มีความหมายเชิงขอให้มี หรือ ขอให้เป็น
- นา มีความหมายว่าดังนั้น เช่นนั้น
- นอ มีความหมายเช่นเดียวกับคำอุทานว่า หนอ หรือ นั่นเอง
- บารนี สร้อยคำนี้นิยมใช้มากในลิลิตพระลอ มีความหมายว่า ดังนี้ เช่นนี้
- รา มีความหมายว่า เถอะ เถิด
- ฤๅ มีความหมายเชิงถาม เหมือนกับคำว่า หรือ
- เนอ มีความหมายว่า ดังนั้น เช่นนั้น
- ฮา มีความหมายเข่นเดียวกับคำสร้อย นา
- แล มีความหมายว่า อย่างนั้น เป็นเช่นนั้น
- ก็ดี มีความหมายทำนองเดียวกับ ฉันใดก็ฉันนั้น
- แฮ มีความหมายว่า เป็นอย่างนั้นนั่นเอง ทำนองเดียวกับคำสร้อยแล
- อา ไม่มีความหมายแน่ชัด แต่จะวางไว้หลังคำร้องเรียกให้ครบพยางค์ เช่น พ่ออา แม่อา พี่อา หรือเป็นคำออกเสียงพูดในเชิงรำพึงด้วยวิตกกังวล
- เอย ใช้เมื่ออยู่หลังคำร้องเรียกเหมือนคำว่าเอ๋ยในคำประพันธ์อื่น หรือวางไว้ให้คำครบตามบังคับ
- เฮย ใช้เน้นความเห็นคล้อยตามข้อความที่กล่าวหน้าสร้อยคำนั้น เฮย มาจากคำเขมรว่า "เหย" แปลว่า "แล้ว" จึงน่าจะมีความหมายว่า เป็นเช่นนั้นแล้ว ได้เช่นกัน
นอกจากนี้มีคำสร้อยที่เรียกว่า "สร้อยเจตนัง" คือใช้ตามใจไม่ควรใช้ในงานกวีนิพนธ์ที่เป็นพิธีการ และไม่นิยมกัน
"หายเห็นประเหลนุช นอนเงื่อง งงง่วง" โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย
"พวกไทยไล่ตามเพลิง เผาจุด ฉางฮือ" โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
"ลัทธิท่านเคร่งเขมง เมืองท่าน ถือฮอ" โคลงภาพฤๅษีดัดตน ด้วย กล่าวคือ มีเอก 7 แห่ง และโท 4 แห่ง เรียกว่า เอกเจ็ดโทสี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น